วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551

คนมีศิลปะ

คนมีศิลปะ
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้ฆ่าหงส์รูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอำมาตย์ในเมืองพาราณสี มีพราหมณ์ปุโรหิตผู้พูดมากคนหนึ่งประจำราชสำนัก ถ้าเขาได้พูดแล้วคนอื่นจะไม่มีโอกาสได้พูดเลย สร้างความรำคาญให้แก่ผู้คนเป็นอย่างมากแม้กระทั่งพระราชา พระองค์จึงคิดหาวิธีสกัดคำพูดของปุโรหิตนั้น
วันหนึ่ง พระองค์เสด็จไปพระอุทยานด้วยพระราชรถ ถึงต้นไทรทอดพระเห็นพวกเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังยืนมุงดูชายง่อยเปลี้ยผู้หนึ่ง ดีดก้อนขวดซัดใส่ใบไม้เจาะรูเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ อยู่ จึงเสด็จเข้าไปทอดพระเนตรดู ทรงคิดได้วิธีสกัดคำพูดของปุโรหิต รับสั่งให้ชายง่อยเปลี้ยเข้าเฝ้า แล้วตรัสถามว่า " ในราชสำนักของเรา มีคนพูดมากอยู่คนหนึ่ง เจ้า สามารถทำให้เขาหยุดพูดได้ไหม ? "
เขากราบทูลว่า " ถ้าได้ขี้แพะถังหนึ่ง อาจทำให้เขาหยุดพูดได้ พระเจ้าค่ะ "
จึงรับสั่งให้นำชายง่อยเปลี้ยเข้าวังด้วย ให้เขานั่งภายในม่านเจาะรูตรงข้ามกับที่นั่งของพราหมณ์ปุโรหิตผู้พูดมากนั้น พร้อมให้วางขี้แพะแห้งไว้ใกล้ ๆชายง่อยเปลี้ยนั้น พอได้เวลาพราหมณ์ปุโรหิตเข้าเฝ้า เขาก็เริ่มกราบทูลพูดโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้อื่น เมื่อเขาอ้าปากพูดคำไหน บุรุษง่อยเปลี้ยก็ดีดขี้แพะที่ทำเป็นก้อนเล็กๆ ผ่านม่านเข้าปากเขาทุกคำพูด พราหมณ์ปุโรหิตจึงได้กลืนกินขี้แพะโดยไม่รู้ตัว
พระราชาทรงทราบว่าขี้แพะหมดแล้ว จึงตรัสว่า " ท่านอาจารย์ ท่านกลืนกินขี้แพะไปตั้งถังหนึ่งแล้ว ยังไม่รู้อีกหรือ ? ท่าน จงไปถ่ายท้องก่อนที่จะตายเสียเถิด "
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พราหมณ์ปุโรหิตปิดปากสนิท แม้ใครจะพูดด้วย ก็ไม่ค่อยจะพูด พระราชาทรงสบายพระทัยแล้วรับสั่งให้พระราชทานบ้าน ๔ หลัง อยู่ในทิศทั้ง ๔ ทิศ พร้อมทรัพย์สินแก่ชายง่อยเปลี้ยนั้น
ฝ่ายอำมาตย์ ได้เข้าเฝ้าพระราชาแล้วกราบทูลว่า "ธรรมดาศิลปะในโลก บัณฑิตทั้งหลาย พึงเรียน แม้เพียงดีดก้อนกวด ก็ยังช่วยให้ชายง่อยได้สมบัตินี้ " แล้วกล่าวคาถานี้ว่า " ขึ้นชื่อว่าศิลปะ แม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็สามารถให้สำเร็จประโยชน์ได้โดยแท้ ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรบุรุษง่อย ได้บ้านทั้ง ๔ ทิศ ก็ด้วยการดีดขี้แพะ "
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
ศิลปะเป็นสิ่งจำเป็นกับชีวิต และไม่ควรเป็นคนพูดมาก

ปลาเจ้าปัญญา

ปลาเจ้าปัญญา
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้เฒ่า ๒ รูป ที่ผลัดวันประกันพรุ่ง เป็นผู้เกียจคร้าน ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีปลา ๓ ตัว เป็นสหายกันชื่อว่า พหุจินตี อัปปจินตี และมิตจินตี ตามลำดับ พากันว่ายออกจากป่าลึกเข้ามาใกล้ถิ่นมนุษย์หากิน
ปลามิตจินตีบอกกับเพื่อนๆว่า " ถิ่นมนุษย์เต็มไปด้วยภัย พวกชาวประมงพากันดักข่ายและไซพวกเรา เข้าป่าลึกตามเดิมเถอะเพื่อน " ปลาอีก ๒ ตัว พูดว่า " วันพรุ่งนี้ พวกเราค่อยไปเถิด " เพราะความเกียจคร้านและติดใจในเหยื่อจนเวลาล่วงไปถึง ๓ เดือน
ชาวประมง ได้เริ่มวางข่ายดักปลาในแม่น้ำ ปลาพหุจินตีและอัปปจินตี เมื่อออกหาอาหารพากันว่ายไปข้างหน้าอย่างไม่ระวัง ก็ว่ายเข้าไปในท้องข่ายทันที ส่วนปลามิตจินตี มาทีหลังได้กลิ่นข่ายก็ทราบว่าเพื่อนอีก ๒ ตัว ติดข่ายแล้ว จึงช่วยเพื่อนด้วยการแสดงลวงให้ชาวประมงเข้าใจว่าข่ายขาดปลาหนีไปได้ ด้วยการกระโดดข้ามข่ายไปมา พวกชาวประมงจึงยกข่ายขึ้นด้วยเข้าใจว่าข่ายขาด ปลาอีก ๒ ตัว จึงรอดออกมาได้ ด้วยการช่วยเหลือของปลามิตจินตี
พระพุทธองค์ เมื่อตรัสเล่าอดีตนิทานแล้ว ได้ตรัสพระคาถาว่า " ปลาชื่อพหุจินตีและปลาชื่ออัปปจินตี ทั้ง ๒ ตัวติดอยู่ในข่าย ปลาชื่อมิตจินตีได้ช่วย ให้หลุดพ้นจากข่าย ปลาทั้ง ๒ ตัว จึงได้มาพร้อมกันกับปลามิตจินตี ในแม่น้ำนั้น "
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
ไม่ควรผลัดวันประกันพรุ่ง เพราะจะทำให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี

ดีแต่สอนคนอื่น

ดีแต่สอนคนอื่น
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุณีผู้พร่ำสอนรูปหนึ่งมักห้ามภิกษุณีรูปอื่นๆไปในที่หวงห้ามแต่ตนเองกลับไป เป็นเหตุให้ประสบเหตุร้าย ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกป่า จ่าฝูงของนกนับร้อยตัว อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ วันหนึ่ง มีนางนกจัณฑาลตัวหนึ่ง แตกฝูงไปหากินไกลถิ่น ที่ทางใหญ่กลางดง ได้เมล็ดข้าวเปลือกและถั่วที่ตกหล่นจากเกวียนชาวบ้านเป็นอาหาร เกิดความโลภอยากเก็บไว้กินผู้เดียว เมื่อกลับมาหาฝูงจึงให้โอวาทแก่ฝูงนกว่า " ธรรมดาทางใหญ่ในดงลึก มีภัยเฉพาะหน้ามาก ทั้งจากฝูงช้าง ม้าและยวดยานที่เทียมโค ถ้าไม่โผบินขึ้นได้เร็ว ก็อย่าไปที่นั้นนะ " ฝูงนกจึงตั้งชื่อให้นางนกนี้ว่า แม่อนุสาสิกา
ต่อมาวันหนึ่ง นางกำลังหากินอยู่ ได้ยินเสียงยานแล่นมาด้วยความเร็ว ก็เหลียวดูนึกว่า ยังอยู่ไกลตัว ทันใดนั่นเอง ยานพลันถึงตัวนาง ด้วยความเร็วปานลมพัด นางไม่อาจโผบินขึ้นได้ทัน จึงถูกล้อยานทับตัวขาดเป็นสองท่อน นอนตายอยู่ตรงนั้น
นกจ่าฝูง เมื่อไม่เห็นนางกลับมาเข้าฝูง จึงเรียกประชุมนกและให้ออกติดตามหา ไปพบนางในที่นั้น จึงกล่าวคาถาว่า " นางนกป่าชื่ออนุสาลิกา พร่ำสอนนกตัวอื่นอยู่เนืองนิตย์ แต่ตัวเองกลับโลภจัด จึงถูกล้อรถบดขยี้ขาดเป็น ๒ ท่อน นอนอยู่ที่หนทางใหญ่ "
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
กินคนเดียวไม่อร่อย และกินได้ไม่นาน

ตายเพราะปาก

ตายเพราะปาก
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุชื่อโกกาลิกะ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพราหมณ์ในตระกูลอุทิจจพราหมณ์ เมื่อเรียนจบศิลปะทุกอย่างจากเมืองตักกสิลา แล้วบวชเป็นฤาษี ได้เป็นอาจารย์ผู้ให้โอวาทแก่ฤาษี ๕๐๐ ตน
ในที่นั้น มีฤาษีขี้โรคผอมเหลืองผู้หนึ่ง วันหนึ่ง ท่านกำลังนั่งฝ่าฝืนอยู่ ได้มีฤาษีปากมากผู้หนึ่งเข้ามานั่งใกล้ๆ แล้วพูดว่า " ท่านจงฟันอย่างนี้ จงฟันตรงนี้ "
ทำให้ฤาษีขี้โรคโกรธแล้วกล่าวว่า " ท่านไม่ใช่อาจารย์สอนศิลปะการฝ่าฟืนของผมนะ " จึงฟันดาบสนั้นเสียชีวิตด้วยมีดฝ่าฟืนนั่นเอง
และในที่ไม่ไกลจากที่อยู่ของฤาษี มีนกกระทาตัวหนึ่งอาศัยอยู่ที่จอมปลวก ทุกเช้าเย็นมันจะขึ้นไปยืนขันเสียงดังลั่นอยู่บนจอมปลวกนั้นเป็นประจำทุกวัน เป็นเหตุให้พรานผู้หนึ่งมาจับมันไปเป็นอาหาร
ฤาษีพระโพธิสัตว์ไม่ได้ยินเสียงมันขันจึงถามหมู่ฤาษี เมื่อทราบเหตุการณ์นั้นแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ท่ามกลางหมู่ฤาษีว่า " คำพูดที่ดังเกินไป รุนแรงเกินไป และพูดเกินเวลา ย่อมฆ่าคนผู้มีปัญญาทรามเสีย เหมือนเสียงฆ่านกกระทา ที่ขันดังเกินไป "
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
การพูดมากไม่ดี ควรพูดตามกาลเทศะ และพูดแต่ที่ดี

นกกระจาบเจ้าปัญญา

นกกระจาบเจ้าปัญญา
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภบุตรของอุตตรเศรษฐี ผู้ออกบวชเพราะเห็นความทุกข์และโทษของการครองเรือน ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกกระจาบ วันหนึ่งออกไปหากินได้ติดข่ายของนายพราน ในขณะที่ถูกจับขังไว้ที่บ้านเพื่อขาย จึงคิดหาวิธีเอาชีวิตรอดได้อย่างหนึ่งว่า
" ถ้าเรากินอาหาร เราก็จะถูกขาย ถ้าเราไม่กินอาหาร ก็คงซูบซอม คนก็จะไม่ซื้อเรา เราก็จะปลอดภัย "
แต่นั้นมาก็ไม่กินอาหาร นกกระจาบนั้น จึงซูบผอมมีแต่หนังหุ้มกระดูก ผู้คนก็จะไม่ซื้อไปเป็นอาหาร นายพราน พอเหลือเพียงนกกระจาบโพธิสัตว์ตัวเดียว ก็จับมันออกมาจากกรง ดูว่ามันเป็นอะไรพอนายพรานเผลอเท่านั้น นกกระจาบก็บินหนีกลับไปที่อยู่ของตน เมื่อฝูงนกกระจาบซักถาม ก็ได้บอกเรื่องราวให้ทราบ แล้วกล่าวคาถาว่า " คนเมื่อไม่คิดก็ไม่ได้บรรลุคุณธรรมพิเศษ ท่านจงดูผลอุบายที่เราคิดแล้ว เราพ้นจากการถูกฆ่าและจองจำ ก็ด้วยอุบายนั้น "
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
เกิดเป็นคนควรคิดแต่สิ่งที่ดีไว้ สามารถเอาตัวรอดในยามคับขันได้

ไก่ขันไม่เป็นเวลา

ไก่ขันไม่เป็นเวลา
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้ท่องบ่นไม่เป็นเวลารูปหนึ่ง สร้างความรำคาญและความเดือดร้อนแก่หมู่ภิกษุ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ บอกศิลปะแก่มานพประมาณ ๕๐๐ คน พวกมานพอาศัยไก่ขันยามตัวหนึ่ง ในการลุกขึ้นศึกษาศิลปะ ต่อมามันได้ตายไป พวกเขาจึงแสวงหาไก่ตัวอื่นแทนมัน
วันหนึ่ง มีมานพคนหนึ่งเข้าไปหักฟืนในป่า ได้ไก่ป่าตัวหนึ่งมาเลี้ยงไว้ ไก่ตัวนี้ไม่รู้จักเวลาขัน เพราะเติบโตขึ้นในป่า บางวันก็ขันดึกเกินไป บางวันก็ขันอรุณขึ้น พวกมานพพากันตื่นมาศึกษาศิลปะในเวลาดึกเกินไป ไม่อาจศึกษาได้จนอรุณขึ้น ก็พากันนอนหลับไป ในเวลาสว่างแล้วก็ไม่ได้ท่องบ่นเลย พวกเขาจึงพากันพูดว่า " เดี๋ยวมันขันดึกไป เดี๋ยวมันขันสายไป อาศัยไก่ตัวนี้ พวกเราคงศึกษาศิลปะไม่สำเร็จหรอก " จึงนำมันไปแกงเป็นอาหารแล้วบอกเรื่องนั้นแก่อาจารย์
อาจารย์จึงกล่าวคาถาว่า " ไก่ตัวนี้ ไม่ได้เติบโตอยู่กับพ่อแม่ ไม่ได้อยู่ศึกษาในสำนักอาจารย์ จึงไม่รู้เวลาที่ควรขันและไม่ควรขัน "
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
เกิดเป็นคนต้องรู้จักเวลาที่เหมาะสมว่า อะไรควรไม่ควร

โลภมากลาภหาย

โลภมากลาภหาย
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุณีชื่อถูลนันทา ผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคกระเทียม สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง มีภรรยาและได้ลูกสาว ๓ คน ชื่อ นันทา นันทวดี และสุนันทา พอลูกสาวทั้ง ๓ ได้สามีแล้วทุกคน พราหมณ์ก็ได้เสียชีวิตไปเกิดเป็นหงส์ทองคำระลึกชาติได้
วันหนึ่ง ได้เห็นความลำบากของนางพราหมณีและลูกสาวของตนที่ต้องรับจ้างคนอื่นเลี้ยงชีพ จึงเกิดความสงสาร ได้โผบินไปจับที่บ้านนางพราหมณีแล้วเล่าเรื่องราวให้แก่นางพราหมณีและลูกสาวฟัง และได้สลัดขนให้แก่พวกเขาเหล่านั้นคนละหนึ่งขนแล้วก็บินหนีไป หงส์ทองได้มาเป็นระยะๆ มาครั้งใดก็สลัดขนให้ครั้งละหนึ่งขน โดยทำนองนี้นางพราหมณีและลูกสาวจึงร่ำรวยและมีความสุขไปตามๆ กัน
ต่อมาวันหนึ่งนางพราหมณีเกิดความโลภจึงปรึกษากับลูกๆ ว่า " ถ้าหงส์มาครั้งนี้ พวกเรา จะจับถอนขนเสียให้หมด เพื่อจะได้มีทรัพย์สมบัติมาก " พวกลูกๆ ไม่เห็นดีด้วย แต่นางพราหมณีไม่สนใจ ครั้นวันหนึ่งพญาหงส์ทองมาอีก นางก็ได้จับถอนขนเสียให้หมด ขนเหล่านั้นกลายเป็นขนนกธรรมดาเท่านั้น เพราะพญาหงส์ทองมิได้ให้ด้วยความสมัครใจ นางพราหมณีได้เลี้ยงหงส์นั้นจนขนงอกขึ้นใหม่เต็มตัว หงส์ก็ได้บินหนีไปโดยไม่ได้กลับมาอีกเลย
พระพุทธองค์ เมื่อนำอดีตนิทานมาสาธกแล้ว ได้ตรัสพระคาถาว่า " บุคคลได้สิ่งใด ควรยินดีสิ่งนั้น เพราะความโลภเกินประมาณ เป็นความชั่วแท้ นางพราหมณี จับเอาพญาหงส์ทองแล้วจึงเสื่อมจากทองคำ "
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
โลภมาก มักลาภหาย

ฤาษีกินเหี้ย

ฤาษีกินเหี้ย
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้หลอกลวงรูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีดาบสผู้มีตบะกล้าตนหนึ่ง เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้าน จึงได้สร้างศาลาไว้ให้ที่ชายป่าแห่งหนึ่งใกล้บ้าน ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นเหี้ยตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ที่จอมปลวกแห่งหนึ่ง ใกล้ที่จงกรมของดาบสนั้น มันจะไปหาดาบสวันละสามครั้งเป็นประจำทุกวัน เพื่อฟังธรรม ไหว้ดาบสแล้ว จึงกลับไปอยู่ที่อยู่ของตน
ต่อมาไม่นาน ดาบสนั้น ได้อำลาชาวบ้านไปที่อื่น ได้มีดาบสโกงตนหนึ่ง เข้ามาอาศัยในศาลานั้นแทน เหี้ยพระโพธิสัตว์ก็คิดว่า แม้ท่านผู้นี้ก็ทรงศีลเหมือนกัน จึงไปหาดาบสนั้นเช่นเดิม
อยู่มาวันหนึ่ง ฝนได้ตกมาในฤดูแล้ง ฝูงแมลงเม่าได้พากันบินออกจากจอมปลวกเป็นจำนวนมาก ฝูงเหี้ยก็ได้ออกมากินแมลงเม่าเหล่านั้น พวกชาวบ้านพากันออกมาจับเหี้ยแล้วปรุงเป็นอาหาร รสอร่อยนำมาถวายดาบส ดาบสได้ฉันเนื้อนั้นแล้วติดใจในรส เมื่อทราบว่าเป็นเนื้อเหี้ย จึงคิดได้ว่า " มีเหี้ยใหญ่ตัวหนึ่งมาหาเราเป็นประจำ เราจะฆ่ามันกินเนื้อ " จึงให้ชาวบ้านเอาเครื่องปรุงมาไว้ให้ ได้นั่งถือค้อนห่มคลุมผ้าอยู่ที่ประตูศาลา
เย็นวันนั้น เหี้ยโพธิสัตว์ ได้ไปหาดาบสตามปกติ ได้เห็นท่านั่งที่แปลกของดาบส คิดว่า " วันนี้ดาบส นั่งท่าที่ไม่เหมือนวันก่อน นั่งชำเลืองเราเป็นประจำ " จึงไปยืนดูอยู่ใต้ทิศทางลม ได้กลิ่นเนื้อเหี้ย จึงทราบว่า " ดาบสโกงนี้ คงฉันเนื้อเหี้ย ติดใจในรสแล้ว คราวนี้ หวังจะตีเรา เอาเนื้อไปแกงเป็นอาหารแน่ๆ " จึงไม่ยอมเข้าไปใกล้ ถอยกลับแล้ววิ่งหนีไป
ฝ่ายดาบสโกงทราบว่าเหี้ยรู้ตัวไม่ยอมมาแล้ว จึงลุกขึ้นขว้างค้อนตามหลังไป ค้อนได้ถูกเพียงหางเหี้ยเท่านั้น เหี้ยได้หลบเข้าไปในจอมปลวกอย่างรวดเร็ว โผล่เพียงศีรษะออกมาเท่านั้น กล่าวติเตียนดาบสด้วยคาถานี้ว่า " นี่เจ้าผู้โง่เขลา จะมีประโยชน์อะไรแก่เจ้า ด้วยชฎาและการนุ่งห่มหนังเสือเหลือง ภายในของเจ้าแสนจะรกรุงรัง เจ้าดีแต่ขัดสีภายนอกเท่านั้น "
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
อำนาจของความอยาก ทำให้คนลืมตัว

สุนัขจิ้งจอกอยากเป็นผู้นำ

สุนัขจิ้งจอกอยากเป็นผู้นำ
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ ทรงปรารภพระเทวทัต ผู้แสดงท่าทางอย่างพระองค์ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นราชสีห์ อาศัยอยู่ในถ้ำทอง ในป่าหิมพานต์ วันหนึ่ง ออกจากถ้ำทอง ไปหาอาหาร ได้กระบือใหญ่ ตัวหนึ่ง กินเนื้อแล้ว ไปดื่มน้ำที่สระแห่งหนึ่ง ในขณะที่เดินกลับถ้ำ ได้พบสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งในระหว่างทาง สุนัขจิ้งจอกจึงขออาสาเป็นผู้รับใช้ราชสีห์ด้วยความกลัวตาย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาสุนัขจิ้งจอกก็ได้กินเนื้อเดนราชสีห์อย่างอิ่มหนำสำราญ มันมีหน้าที่ขึ้นยอดเขาไปดูสัตว์ที่จะเป็นอาหาร แล้วกลับลงมาบอกพระยาราชสีห์ว่า " ข้าพเจ้า อยากกินเนื้ออย่างโน้น นายท่าน จงแผดเสียงเถิด " พระยาราชสีห์ก็จะไปจับสัตว์ตัวนั้นมาเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเนื้อนานาชนิดหรือแม้กระทั่งช้าง
ครั้นเวลาผ่านไปหลายปี สุนัขจิ้งจอก ชักกำเริบเกิดความคิดว่า " แม้ตัวเรา ก็เป็นสัตว์ มี ๔ เท้าเหมือนกัน เหตุใด จะให้ผู้อื่นเลี้ยงอยู่ทุกวันเล่า นับแต่นี้เป็นต้นไป เราจะฆ่าช้างเป็นอาหารกินเนื้อเอง แม้แต่ ราชสีห์ก็เพราะอาศัยเราบอกว่านายขอรับ เชิญท่านแผดเสียงเถิด เท่านั้น ก็จึงฆ่าสัตว์ต่างๆได้ ต่อแต่นี้ เราจะให้ราชสีห์พูดกับเราบ้าง " ได้เข้าไปหาราชสีห์แล้วบอกเรื่องนั้น
แม้ถูกพระยาราชสีห์พูดเยาะเย้ยว่า " เป็นไปไม่ได้ " ก็ตามคงเซ้าซี้อยู่นั่นเอง พระราชสีห์เมื่อไม่อาจห้ามมันได้ ก็รับคำให้สุนัขจิ้งจอกนอนในที่นอนของตน แล้วไปคอยดูช้างตกมันที่เชิงเขาพบแล้ว ก็กลับเข้ามาบอกสุนัขจิ้งจอกว่า " จิ้งจอกเอ๋ย เชิญแผดเสียงเถิด "
สุนัขจิ้งจอก ออกจากถ้ำทอง สลัดกาย มองทิศทั้ง ๔ หอนขึ้นสามคาบ วิ่งกระโดดเข้างับช้างหวังที่ก้านคอช้าง กลับพลาดไปตกที่ใกล้เท้าช้าง ช้างจึงยกเท้าขวาขึ้นไปเหยียบหัวจิ้งจอก จนหัวกะโหลกแตกเป็นจุน แล้วเอาเท้าคลึงร่างของมันทำเป็นกองไว้แล้วเยี่ยวรดข้างบน ร้องกัมปนาทเข้าป่าไป พญาราชสีห์เห็นเช่นนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถานี้ว่า " มันสมองของเจ้าทะลักออกมา กระหม่อมของเจ้าก็ถูกทำลาย ซี่โครงของเจ้า ก็หักหมดแล้ว วันนี้ เจ้าช่างรุ่งโรจน์เหลือเกิน "
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
อย่าคิดทำอะไร เกินกำลังความสามารถของตัวเอง

ปลุกมันขึ้นมาฆ่า

ปลุกมันขึ้นมาฆ่า
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ ปรารภการยกย่องอสัตบุรุษของพระเจ้าอชาตศัตรู ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
ในกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ มีลูกศิษย์ประมาณ ๕๐๐ คน ในนั้นมีมานพคนหนึ่งชื่อ สัญชีวะ ได้เรียนมนต์ทำคนตายให้ฟื้นคืนมาได้แต่ไม่ได้เรียนมนต์สำหรับป้องกัน
วันหนึ่ง เขาเข้าไปหาฟืนกับเพื่อน เห็นเสือตายตัวหนึ่งนอนตายอยู่ ก็พูดกับเพื่อนๆ ว่า " เราจะทำเสือตายตัวนี้ ให้ฟื้นคืนมา พวกท่านจะเชื่อเราหรือไม่ " พวกเพื่อนๆไม่เชื่อและท้าว่า " ถ้าท่านมีความสามารถ ก็จงปลุกให้มันตื่นขึ้นมาเถิด " แล้วก็ต่างรีบปีนขึ้นต้นไม้ไป
ส่วนนายสัญชีวะ ร่ายมนต์แล้วขว้างเสือตายด้วยก้อนหิน ทันใดนั้นเอง เสือได้ลุกขึ้น กระโดดกัดที่ก้านคอของเขา ทำให้เขาเสียชีวิตล้มลงตรงนั้นเอง ทั้งคนและสัตว์นอนตายในที่เดียวกัน พวกมานพขนฟืนไปแล้ว บอกเรื่องนั้นแก่อาจารย์ อาจารย์จึงกล่าวคาถาว่า " ผู้ใดยกย่องและคบหาคนชั่ว คนชั่วย่อมกระทำผู้นั้นแหละ ให้เป็นเหยื่อ เหมือนเสือโคร่งที่สัญชีวมานพทำให้ฟื้นขึ้น แล้วทำเขานั้นแล ให้เป็นเหยื่อ "
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
การที่นิยมยกย่องคนไม่ดี ย่อมประสบความเดือดร้อน

. ชายชรากับหมี

เรื่อง ชายชรากับหมี
ในป่าแห่งหนึ่ง มีหมีตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำของตนอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย มันรู้สึกเงาและว้าเหว่เพราะไม่มีเพื่อน วันหนึ่งหมีจึงเดินออกจากถ้ำเพื่อจะหาเพื่อนคุยแก้เหงา ในป่าแห่งนั้นมีชายชราผู้หนึ่งซึ่งอยู่ตามลำพังเช่นกัน วันๆได้แต่พูดคุยกับต้นไม้ดอกไม้ไปตามประสา เมื่อรู้สึกเบื่อหนายที่ต้องอยู่คนเดีวจังเดินเที่ยวชมต้นไม้ใบหญ้าไปเรื่อยเปื่อยครั้นได้พบหมีเข้าโดยบังเอิญ ชายชรารู้สึกตกใจแต่เห็นว่าจะวิ่งหนีก็คงไม่ทัน จึงทำใจกล้ากล่าวทักทายหมีรู้สึกดีใจที่ได้เพื่อนพูดคุย แก้เหงา ในที่สุดทั้งสองก็สนิทสนมกันในเวลาอันรวดเร็ว หมีจึงชวนให้ชราชราไปเที่ยวที่ถ้ำของตน แต่ชายชราปฏิเสธและชวนให้หมีเป็นฝ่ายไปเที่ยวที่บ้านของตนแทน “ระยะทางไปบ้านของข้าใกล้กว่าถ้ำของเจ้ามาก ไปเป็นแขกของข้าดีกว่า” ชายชราให้เหตุผล หมีเห็นด้วยจึงตกลงมาเที่ยวที่บ้านของชายชรา และในที่สุดก็ย้ายมาอยู่กับชายชราตามคำเชิญ นับแต่นั้นมาชีวิตของทั้งสองก็มีความสุขมากขึ้น เพราะมีเพื่อนคอยให้คำปรึกษาให้คำพูดจากันไม่เงียบเหงาเหมือนเมื่อก่อน อยู่มาวันหนึ่งขณะที่ทั้งสองนอนพักกลางวันอยู่ใต้ร่มไม้ หมีเห็นแมลงตัวหนึ่งบินมาแกะที่จมูกของชายชรา ด้วยความปรารถนาดี อยากให้เพื่อนของตนนอนหลับอย่างมีความสุข มันจึงตะปบอุ้งเท้าใส่แมลงเต็มแรง แมลงบินหนีไปได้อย่างหวุดหวิด แต่ศรีษะของชายชรากลับเป็นแผลเหวอะหวะเพราะกรงเล็บอันแหลมคมและทรงพลังของหมี
ความปรารถนาดีของเพื่อนที่โง่เขลามักเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี

. แมวกับไก่

เรื่องแมวกับไก่
แมวตัวหนึ่งจับพ่อไก่ตัวอ้วนมาได้ ครั้นจะขย้ำกินให้หายหิวก็ยังเกรงจะถูกผู้อื่นกล่าวหาว่าตนเป็นอันธพาล จึงคิดหาข้อกล่าวโทษต่อเชลยของตนในที่สุดก็สามารถหาเหตุผลได้ข้อหนึ่ง“ที่ข้าต้องสังหารเจ้าเพราะเจ้าทำความผิดโดยเที่ยวส่งเสียงขันหนวกหูคนอื่นไม่เว้นแต่ละวัน” “ท่านเข้าใจผิดแล้ว” ไก่พยายามขี้แจงเหตุผล“ข้ามีหน้าที่ส่งเสียงขัน ทุกๆเช้าเพื่อปลุกให้ผู้อื่นตื่นขึ้นมาประกอบการงานตามภาระหน้าที่ของแต่ละคน”“แต่ถ้าไม่ได้กินอาหารใครจะมีแรงทำการงานเจ้าว่าจริงไหมล่ะส่วนหน้าที่ส่งเสริมปลุกผู้อื่นตามที่เจ้าว่านั้นต่อแต่นไปไก่ตัวอื่นๆคงจะทำแทนได้ดีไม่แพ้เจ้า”กล่าวจบแมวก็สังหารไก่เพื่อเป็นอาหารเช้าของมันดังที่ตั้งใจไว้
เหตุผลหรือคำชี้แจงใดๆ ก็ใช้ไม่ได้สำหรับคนพาล ทางที่ดีควรหลีกหนีให้ไกลจะปลอดภัยกว่า

ชายสองคนกับขวาน

เรื่อง ชายสองคนกับขวาน
ชายสองคนเป็นเพื่อนคบหากันมานาน วันหนึ่งขณะที่ทั้งสองเดินไปตามถนนบังเอิญพบขวานเล่มหนึ่งตกอยู่ ชายคนหนึ่งรีบหยิบขึ้นมาถือไว้ “ข้าเจอขวานเห็นไหม โชคดีอะไรอย่างนี้ มันต้องเป็นของข้า” “เราเดินมาด้วยกัน เจอของก็ต้องแบ่งกันซิ ข้าก็เห็นพร้อมกับเจ้านั่นแหละ” ชายอีกคนหนึ่งท้วง ขณะนั้นเจ้าของขวานเดินตามหาขวานของตนที่หายไป เห็นคนแปลกหน้าถือขวานไว้ในมือเข้าใจว่าเป็นขโมยจึงร้องเรียกให้ชาวบ้านช่วยกันจับตัว “แย่แล้วซิเรา อยู่ดีๆกลับถูกกล่าวหาว่าเป็นขโมย” ชายคนที่ถือขวานกล่าวด้วยความตกใจ แต่ชายอีกคนหนึ่งท้วงขึ้นว่า “อย่าพูดว่าเราซิ ขวานอยู่ในมือเจ้า เจ้าเจอของหล่นตามทางแล้วเก็บขึ้นมาถือไว้ส่งเดช ได้ลาภแล้วไม่คิดจะแบ่งข้า พอมีเรื่องเดือดร้อนทำไมถึงจะให้ข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเล่า”
อันเพื่อนกินนั้นหาง่าย แต่เพื่อนตายซิหายาก เมื่อยามได้รับผลประโยชน์ทุกคนพร้อมที่จะเป็นพวกเดียวกับเรา แต่เมื่อมีเรื่องเดือดร้อนใครๆก็มักจะอยู่ฝ่ายตรงข้าม

หมาป่ากับคนเลี้ยงแกะ

เรื่องหมาป่ากับคนเลี้ยงแกะ
คนเลี้ยงแกะเห็นหมาป่าตัวหนึ่งมาป้วนเปี้ยนอยู่แถวๆทุ่งหญ้าที่ตนนำแกะเลี้ยงจึงคอยระวังเพราะเกรงหมาป่าจะแอบมาขโมยจับแกะไปกิน แต่หมาป่ากลับมีท่าทีเป็นมิตรหมอบนอนดูฝูงแกะอย่างสงบ ไม่ได้แสดงอากัปกิริยาว่ามีความประสงค์ร้ายต่อแกะในฝูงแต่อย่างใดเมื่อเวลาผ่านไปหลายวัน คนเลี้ยงแกะเข้าใจว่ามันเป็นหมาป่าเชื่องๆไม่มีอันตรายอะไรทำให้คลายความระแวดระวัง จนวันหนึ่งเกิดมีความจำเป็นต้องเข้าไปธุระในเมืองจึงฝากหมาป่าให้ช่วยดูแลแกะของตนครั้นกลับมาเห็นแกะหลายตัวถูกหมาป่ากัดตาย คนเลี้ยงแกะได้แต่รำพึงกับตัวเอง “เรานี่โง่แท้ๆ ที่วางใจให้หมาป่าเฝ้าแกะ ให้แมวคอยดูปลาย่าง สมน้ำหน้านักเชียว”
ผู้ใดไว้ใจหรือคบหากับศัตรูหมู่คนพาลในไม่ช้าย่อมพบกับความพินาศ

. หมาไล่เนื้อกับกระต่าย

เรื่อง หมาไล่เนื้อกับกระต่าย
หมาไล่เนื้อตัวหนึ่งเจอกระต่ายป่าตัวหนึ่งจึงวิ่งไล่กวดและในที่สุดก็สามารถกระโดดกัดกระต่ายตัวนั้นจนล้มลงบาดเจ็บหนีต่อไปไม่ได้ มันจึงใช้ลิ้นเลียไปทั่วตัวกระต่าย“นี่ท่านเป็นมิตรหรือศัตรูขอข้ากันแน่” กระต่ายเอ่ยถามด้วยความสงสัย“หากเป็นมิตรเพราะเหตุใด จึงกัดข้า และถ้าเป็นศัตรูทำไมถึงเลียตัวเขา
ผู้ที่ทำให้เราไม่แน่ใจว่าเป็นมิตรหรือศัตรูกันแน่ น่ากลัวยิ่งกว่าผู้ที่แสดงตนว่าเป็นศัตรูอย่างเปิดเผย

นกมีหูหนูมีปีก

เรื่องนกมีหูหนูมีปีก
ในสมัยโบราณค้างคาวก็เหมือนกับสัตว์ชนิดอื่นๆที่ส่วนใหญ่มักจะออกหากินในเวลากลางวัน แต่อยู่มาวันหนึ่งพวกนกกับสัตว์ป่าได้เกิดการทะเลาะวิวาทกันขึ้นจนถึงขั้นยกพลเข้าตะลุมบอน ในตอนแรกค้างคาวนั้นคุมเชิงดูท่าทีของทั้งสองฝ่ายโดยตั้งใจว่าหากฝ่ายใดมีทีท่าจะเป็นผู้ชนะค่อยเข้าไปเป็นพวกด้วยเพื่อผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับ“พวกนกไม่มีหู ฉันมีหู ฉันไม่ใช่นก ฉันเป็นพวกท่าน” ค้างคาวเข้าไปผูกมิตรกับบรรดาสัตว์ป่าซึ่งเริ่มเป็นฝ่ายมีชัยแต่ต่อมาไม่นาน สถานการณ์เกิดพลิกผัน พวกนกรวบรวมพลกลับมาสู้ใหม่และคราวนี้สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้บ้าง“พวกสัตว์ป่าไม่มีปีก ฉันมีปีกฉันไม่ใช่สัตว์ป่า ฉันเป็นพวกท่าน” ค้างคาวเปลี่ยนไปผูกมิตรกับพวกนก การต่อสู้ดำเนินไปอีกไม่นานนัก ทั้งนกและสัตว์ป่าต่างบาดเจ็บล้มตาย เห็นพ้องต้องกันว่ารบราฆ่าฟันกันอย่างนี้ต่อไปไม่มีประโยชน์อะไร จึงตกลงยุติศึกจับมือเป็นพันธมิตร และเมื่อทั้งสองฝ่ายทราบพฤติกรรม ของค้างคาว ต่างพากันรังเกียจไม่มีใครยอมให้เข้าเป็นพวกด้วยนับแต่นั้นมาค้างคาวจึงต้องไปรวมกลุ่มอยู่ในถ้ำที่มืดมิดกันตามลำพังและออกหากินได้เฉพาะตอนกลางคืน เนื่องจากไม่อาจสู้หน้าใครๆได้
ผู้ใดไม่มีความซื่อสัตย์จริงใจต่อมิตร ผู้นั้นเสมือนไร้ญาติขาดมิตร

ชาวไร่กับนกกระเรียน

เรื่อง ชาวไร่กับนกกระเรียน
ชาวไร่ผู้หนึ่งนำข่ายไปวางดักนกยางที่ลงมาจิกกินข้าวโพดในไร่ของตน ครั้นตกบ่ายจึงออกมาดูพบว่านอกจากนกยางหลายตัวแล้ว ยังมีนกกระเรียนตัวหนึ่งติดข่ายอยู่ด้วยและมันพยายามอ้อนวอนขอชีวิต “โปรดปล่อยข้าไปเถิด ท่านก็รู้นี่ว่านกกระเรียนอย่างเข้าไม่ได้กินข้าวโพดในไร่ของท่านเป็นอาหารเลยแม้แต่เมล็ดเดียว แล้วอย่างนี้ท่านมีเหตุผลใดที่จะต้องสังหารข้าด้วย” แต่ชาวไร่ส่ายหน้าปฏิเสธ “ในเมื่อข้าจับเจ้าได้พร้อมกับพวกนกยางที่ลงมากินข้าวโพดในไร่ของข้าเจ้าก็ต้องได้รับโทษเช่นเดียวกัน”

ผู้ใดเข้าไปอยู่ร่วมกลุ่มปะปนกับคนชั่ว ย่อมไม่มีใครคิดว่าเขามิใช่คนชั่ว

คนถูกหมากัด

เรื่อง คนถูกหมากัด
ชายคนหนึ่งถูกหมากัดเลือดไหลอาบ พยายามเดินหาหมอรักษาชายอีกคนหนึ่งมาพบจึงให้คำแนะนำเป็นเคล็ดลับให้ว่า“จงนำขนมปังมาชุบเลือดที่แผลให้ชุ่มแล้วเอาไปให้หมาตัวที่กัดท่านกิน แผลของท่านก็จะหายโดยเร็ว”“หากรักษาด้วยวิธีที่ท่านบอก ข้าพเจ้าคงถูกหมาทุกตัวในเมืองนี้รุมกัดเป็นแน่ “ชายผู้ที่ถูกหมากัดกล่าวตอบด้วยความฉุนเฉียว
การให้การอุปถัมภ์เลี้ยงดูศัตรูของตนเอง เท่ากับเป็นการสร้างจำนวนศัตรูให้เพิ่มมากขึ้น

เต่ากับนกอินทรี

เรื่อง เต่ากับอินทรี
เต่าตัวหนึ่งรู้สึกเบื่อหน่ายในถิ่นที่อยู่เดิมของตน มันประกาศแก่สัตว์ปีกทั้งหลายว่าหากผู้ใดสามารถพาไปอยู่ในสถานที่อุดมสมบูรณ์จะมอบทองคำที่เก็บสะสมไว้ให้เป็นรางวัล นกอินทรีตัวหนึ่งเห็นช่องทางที่จะได้กินเนื้อเต่าจึงรับอาสาโดยใช้กรงเล็บจับขอบกระดองพาบินขึ้นไปบนเวหา แล้วปล่อยให้เต่าตกลงมากระแทกหินจนกระดองแตก นกอินทรีจึงบินลงมากินเนื้อเต่าอย่างเอร็ดอร่อย
ผู้ใดไว้วางใจเปิดโอกาสให้ศัตรูผู้นั้นย่อมพบกับความพินาศ

แม่หมูกับหมาป่า

เรื่อง แม่หมูและหมาป่า
หมาป่าตัวหนึ่งได้ข่าวว่าแม่หมูป่าให้กำเนิดลูกจึงแวะไปเยี่ยมเยียน ครั้นเห็นลูกหมูป่าอวบอ้วนน่ากินมันจึงออกอุบายเพื่อลวงให้แม่หมูออกไปจากที่อยู่เพื่อมันจะได้จับลูกๆของนางกินได้สะดวก “เจ้าเพิ่งออกลูกใหม่ๆควรออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์และหาอาหารดีๆกินให้อิ่มหนำสำราญเพื่อจะได้มีน้ำนมให้ลูกของเจ้าอย่างเพียงพอ” หมาป่าสาธยายอย่างยืดยาว “ส่วนลูกๆที่น่ารักของเจ้าทั้งหมดไม่ต้องเป็นห่วงหรอก ข้าจะช่วยดูแลให้เอง”“ขอบใจมาก แต่เจ้าคงไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยวุ่นวายมากขนาดนั้นหรอก” แม่หมูป่ากล่าวอย่างรู้ทัน “เพียงแต่ขอให้ออกไปพ้นจากที่อยู่ของข้าเท่านั้น ก็นับว่าเป็นการช่วยเหลืออย่างดีที่สุด และข้าก็คงจะอดขอบใจเจ้าไม่ได้แน่”
เมื่อใดที่ท่านไม่ไว้ใจไม่ลุ่มหลงในคำลวงของศัตรู เมื่อนั้นท่านย่อมได้รับความปลอดภัย

คนตาบอดกับลูกสุนัขป่า

เรื่อง คนตาบอดกับลูกสุนัขป่า
คนตาบอดอยากได้สุนัขไว้ใช้ในการนำทาง มีคนนำลูกสุนัขป่าตัวหนึ่งมามอบให้ คนตาบอดใช้มือลูกคลำสัมผัสไปทั่วตัวแล้วจึงรำพึงว่า “เราไม่แน่ใจหรอกว่ามันเป็นลูกสุนัขบ้านหรือลูกสุนัขป่า แต่มั่นใจได้เลยว่า..ไม่อาจไว้ใจมันได้ หากปล่อยให้เข้าไปอยู่ในฝูงแกะ” นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนพาลและคนชั่วย่อมแสดงลักษณะของคนให้ผู้อื่นรู้ได้ในไม่ช้า
คนพาลและคนชั่วย่อมแสดงลักษณะของคนให้ผู้อื่นรู้ได้ในไม่ช้า

ลากับรูปเคารพ

เรื่อง ลากับรูปเคารพ
ลาตัวหนึ่งมีหน้าที่บรรทุกเทวรูปเข้าร่วมขบวนแห่ทางศาสนาระหว่างทางมันเห็นผู้คนที่ยืนอยู่สองฟากถนนยกมือไหว้ทำความเคารพลาเข้าใจว่าใครๆต่างนับถือยกย่องตัวมัน จึงหยุดยืนทำท่ายืดตัวอย่างภาคภูมิใจ “เจ้าโง่” ผู้เป็นนายเอาไม้ฟาดใส่หลังของลา “นี่หลงเข้าใจว่าใครๆยกมือไหว้เจ้างั้นหรือ เขาไหว้เทวรูปบนหลังเจ้าต่างหาก รีบเดินตามขบวนเร็วเข้า”
คนพาลมักเข้าใจว่าผู้คนทั่วไปต่างเกรงกลัวและเคารพนับถือตน แต่ความจริงพวกเขาเกรงในยศตำแหน่งและอำนาจ

พรานใหม่กับคนตัดไม้

เรื่อง พรานใหม่กับคนตัดไม้
พรานใหม่คนหนึ่งเพิ่งจะหัดเข้าป่าล่าสัตว์เป็นครั้งแรกจึงรู้สึกลำพองใจยิ่งนัก คิดอยากจะยิงหมี เสือ หรือสิงโตตัวหนึ่งเป็นประเดิมในระหว่างทางได้พบคนตัดไม้จึงเอ่ยถามด้วยเสียงอันดังว่า “ท่านตัดไม้อยู่แถวนี้เป็นประจำหรือ มีสัตว์อะไรคอยรบกวนบ้างล่ะ ข้าจะช่วยจัดการให้” “ดีทีเดียว” คนตัดไม้รู้สึกยินดี “ในป่าแห่งนี้มีสิงโตร้ายกาจอยู่ตัวหนึ่งมันจับคนไปจนนับไม่ถ้วนแล้วละท่าน” พรานได้ยินดังนั้นจึงทำท่าฮึดฮัดหยิบธนูมาขึ้นสาย “แล้วรู้ไหมว่าเวลานี้มันอยู่ที่ไหน เห็นรอยเท้าของมันบ้างหรือเปล่า” คนตัดไม้ชี้มือไปทางทิศเหนือ “เห็นซิ..นี่ไงล่ะ รอยยังใหม่ๆอยู่เลย หากท่านรีบตามไปต้องทันแน่ๆ อ้าว..แล้วนั่นท่านเดินมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ทำไมกัน” พรานใหม่หันมายิ้มเจื่อนๆ กล่าวตอบเสียงสั่นๆเพราะฟันกระทบกันว่า “ข้าเพียงแต่อยากเห็นรอยเท้าสิงโตเท่านั้น ไม่ได้ต้องการเห็นตัวของมันนี่นา”
เมื่อยังไม่ได้เผชิญกับภัยอันตราย ใครๆก็สามารถแสดงความกล้าหาญได้

. หมีกับผึ้ง

เรื่อง หมีกับผึ้ง
หมีตัวหนึ่งซึ่งกำลังหิวโซเดินเข้าไปในสวนและได้พบกับรังผึ้งมันจึงจับมาฉีกกินอย่างเอร็ดอร่อย โดยเฉพาะน้ำผึ้งเป็นสิ่งที่หมีโปรดปรานที่สุด พวกผึ้งพยายามช่วยกันต่อสู้โดยใช้เหล็กในเป็นอาวุธ แต่ไม่สามารถเจาะทะลุขนอันหนาและปกปุยของหมีได้ แต่ในเวลาไม่นานก็คิดหาหนทางใหม่ด้วยการพร้อมใจกันบินเข้าไปต่อยตรงบริเวณหน้าและตาของหมี เมื่อหมีได้รับความเจ็บปวดไม่สามารถทนอยู่ได้จึงวิ่งหนีเข้าป่าไป
ผู้ทำร้ายผู้อื่นย่อมได้รับการลงโทษและความสามัคคีย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จ

ราชสีห์กับวัวสี่ตัว

เรื่อง ราชสีห์กับวัวสี่ตัว
ในบรรดาสัตว์ป่าทั้งหลายมีเพียงวัวสี่ตัว ซึ่งเป็นเพื่อนรักกันเท่านั้นที่ไม่กลัวเกรงราชสีห์ผู้เป็นเจ้าป่า ทั้งนี้เพราะวัวทุกตัวต่างมีความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวกัน เมื่อใดที่ราชสีห์หมายจะจู่โจมเข้าสังหาร วัวทั้งสี่ตัวจะรีบหันหลังชนกันหันหัวซึ่งมีเขาอันแหลมคมออกเผชิญหน้ากับเจ้าป่าไม่เปิดช่องว่างให้ราชสีห์กระโจนเข้าเล่นงานได้ไม่ว่าจะมาจากทิศทางใด“เป็นเพราะเขาอันแข็งแกร่งของข้าต่างหาก” วัวอีกตัวหนึ่งแย้งขึ้นด้วยต่างคิดว่าตนเองมีความสำคัญเหนือผู้อื่น ในที่สุดวัวทุกตัวต่างก็เกิดหมางใจแตกสามัคคีจึงแยกกันออกหากินไม่รวมกลุ่มเหมือนก่อน เป็นเหตุให้ถูกราชสีห์จับกินเป็นอาหารจนหมดทั้งสี่ตัว
เมื่อความขาดสามัคคีเกิดขึ้นในหมู่คณะใด หมู่คณะนั้นย่อมพบกับภัยพิบัติ

มัดแขนงไม้

เรื่อง มัดแขนงไม้
ชาวนาคนหนึ่งเห็นลูกๆทะเลาะวิวาทกันเป็นประจำ อบรมสั่งสอนเท่าใดก็ไม่ยอมเชื่อฟัง ยังคงทะเลาะเบาะแว้งกันเหมือนเดิม จึงคิดหาอุบายสอนตัวอย่างของการขาดความสามัคคีให้ลูกๆเข้าใจ วันหนึ่งจึงสั่งให้ลูกทุกคนไปหาแขนงไม้มาคนละอัน ชาวนามัดแขนงไม้รวมเข้าด้วยกัน จากนั้นจึงส่งให้ลูกๆทุกคนลองหักดู เมื่อไม่มีใครสามารถหักได้จึงแก้มัดออก ส่งแขนงไม้ให้ลูกทุกคนช่วยกันหักก็สามารถหักได้อย่างง่ายดาย “เจ้าเห็นแล้วใช่ไหม” ชาวนากล่าวกับลูกๆทุกคน “ตราบใดที่พวกเจ้าสามัคคีกลมเกลียวกันเหมือนแขนงไม้ในมัดจะไม่มีผู้ใดมาทำอันตรายได้ แต่เมื่อใดที่พวกเจ้าแตกแยกกัน เหมือนแขนงไม้แต่ละอันย่อมถูกศัตรูทำลายได้โดยง่าย” นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า สามัคคีคือพลัง ความกลมเกลียวย่อมนำมาซึ่งความมั่นคง
สามัคคีคือพลัง ความกลมเกลียวย่อมนำมาซึ่งความมั่นคง

ช่างทำโลหะกับสุนัข

เรื่องช่างทำโลหะกับสุนัข
ช่างทำโลหะคนหนึ่งตีทองเหลืองเสียงดังโปกเปกอยู่ในห้องทำงานของตน โดยมีสุนัขที่เลี้ยงไว้นอนหลับปุ๋ยในบริเวณใกล้ๆกันนั้น ครั้นถึงเวลาเที่ยงช่างทำโลหะหยุดงานเพื่อรับประทานอาหาร สุนัขของเขาก็ตื่นขึ้นมายืนเคล้าเคลียและกระดิกหางอย่างประจบ ช่างทำโลหะโยนเศษกระดูกให้พร้อมกับกล่าวว่า “เสียงเคี้ยวอาหารของข้า คงดังกว่าเสียงตีทองเหลืองซินะ เจ้าจึงต้องตื่นขึ้นมาในเวลานี้
แม้คนเกียจคร้านที่สุดในโลก ก็ยังขยันเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ของตน

หมาป่ากับแกะโง่

ครั้นหนึ่งนานมาแล้ว พวกหมาป่าได้ส่งทูตมาผูกสัมพันธ์ไมตรีกับแกะ โดยทูตได้กล่าวกับพวกแกะว่า “นับตั้งแต่คนเลี้ยงแกะใช้ให้หมาของเขามาคอยดูแลและควบคุมพวกเจ้า นอกจากแกะทุกตัวจะไม่สามารถไปไหนมาไหนได้สะดวกตามใจต้องการแล้ว พวกหมาเลี้ยงแกะยังยุยงให้เราเข้าใจผิดกัน โดยใส่ร้ายหาว่าพวกเราชาวหมาป่าทั้งหลายคอยจ้องจะทำอันตรายฝูงแกะซึ่งไม่เป็นความจริงเลย” เมื่อเห็นว่าแกะทุกตัวในฝูงเริ่มคล้อยตามหมาป่าซึ่งทำหน้าที่ทูตรีบเสนอวิธีการซึ่งตนได้คิดไว้ดังนี้ “หากพวกเจ้าช่วยกันไล่หมาเลี้ยงแกะไปไม่มาคอยยุยงและควบคุม ต่อไปแกะทุกตัวจะเป็นอิสระสามารถไปไหนๆได้อย่างเสรี” พวกแกะหลงเชื่อจึงขับไล่ไม่ให้หมาคอยดูแลตน ด้วยเหตุนี้หมาป่าจึงสามารถสังหารแกะได้โดยง่าย
การหลงเชื่อคำลวงของศัตรูย่อมเป็นหนทางไปสู่ความพินาศ

หนูกับหอยมุข

หนูกับหอยมุก
หนูโง่ตัวหนึ่งมีความคิดว่ามันควรจะออกท่องเที่ยวไปในโลกกว้างเพื่อหาประสบการณ์ชีวิต ตอนแรกอยากชวนหนูตัวอื่นๆไปด้วยแต่เกรงว่าจะเป็นภาระยุ่งยากจึงตัดสินใจที่จะเดินทางตามลำพัง หลังจากกล่าวคำอำลาท้องทุ่งอันเป็นถิ่นเกิดแล้ว มันได้เริ่มออกเดินทางในเช้าวันรุ่งขึ้นไม่นานนักก็พบกับจอมปลวกขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางท้องทุ่ง“โอ...ภูเขา มันคือภูเขานั่นเอง” หนูอุทานอย่างตื่นเต้น “เชื่อเถิดว่ายกเว้นข้าแล้ว ยังไม่มีหนูตัวใดได้เห็นภูเขาจริงๆ นอกจากได้ยินคำบอกเล่าเท่านั้น” หนูผู้โง่เขลาเดินต่อไปได้ไม่นานก็พบกับบึงน้ำกว้างใหญ่ “ทะเล โอ...นี่นะหรือท้องทะเลอันน่ารื่นรมย์ พนันได้เลยว่ายกเว้นข้าแล้ว ยังไม่มีหนูตัวใดเดินทางมาถึงทะเล นอกจากได้ยินคำบอกเล่าเท่านั้น”เดินเลาะชายฝั่งไปอีกไม่ไกล หนูผู้โง่เขลาก็มาถึงชายทะเล “มหาสมุทร โอ...คือมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล รับรองได้เลยว่ายกเว้นข้าแล้ว ยังไม่มีหนูตัวใดเดินทางมาถึงมหาสมุทร นอกจากได้ยินคำบอกเล่าเท่านั้น”ขณะเดินอยู่บนชายหาด หนูผู้โง่เขลาเห็นหอยมุกจำนวนมากอ้าเปลือกออกนอนตากแดดอยู่ “ในนั้นต้องมีอาหารรสเลิศ นอกจากข้าแล้วคงไม่มีหนูตัวใดเคยได้กินแน่” หนูผู้โง่เขลาวิ่งมาหยุดยืนชะเง้อคอเข้าไปในเปลือกหอย หอยมุกหุบเปลือกลง งับเอาหนูเข้าไปขังไว้ภายในทันที
คนโง่เขลามักเข้าใจว่าตนเองฉลาด แต่กลับไม่รู้ตัวแม้ว่ากำลังอยู่ในอันตราย

กากับเหยือกน้ำ

กาตัวหนึ่งกระหายน้ำเจียนตาย ครั้นมองเห็นเหยือกใบหนึ่งตั้งอยู่บนพื้นจึงรีบบินลงมาหมายจะดื่มกินให้ชื่นใจแต่ปรากฏ ว่ามีน้ำ เหลือติดก้นเหยือกไม่มากนัก กาพยายามยืดคอลงไปแต่ไม่ถึงน้ำ ครั้นจะคว่ำเหยือกก็ไม่มีแรง แต่ด้วยสติ ปัญญาอัน เฉียบแหลมมันจึงใช้ปากคาบก้อนกรวดใส่ลงไปทีละก้อนๆอย่างไม่ย่อท้อ ระดับน้ำในเหยือกค่อยๆสูงขึ้นจนมัน สามารถดื่มกินได้สมดังความตั้งใจ

การใช้ไหวพริบสติปัญญาและความเพียรยาม ย่อมนำพาไปสู่ความสำเร็จ

ลากับจั๊กจั่น

ลาตัวหนึ่งได้ยินจักจั่นร้องเสียงไพเราะจับใจ จึงคิดอยากจะเสียงดีอย่างนั้นบ้าง มันพยายามตีสนิทและสอบถามว่าจักจั่นกินอะไรจึงเสียงดี “พวกเรากินน้ำค้างยังไงล่ะ” จักจั่นบอกกับลานับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาลาก็ไม่ยอมกินอาหารอื่นๆ นอกจากคอยเลียแต่น้ำค้างบนยอดหญ้าเท่านั้น ร่างกายจึงผ่ายผอมและในที่สุดก็หิวจนเป็นลมตาย
สิ่งที่มีคุณประโยชน์สำหรับคนหนึ่ง อาจเป็นโทษสำหรับอีกคนหนึ่ง ผู้มีสติปัญญาควรรู้จักการเลือกสรรแยกยะ

เม่นกับงู

เรื่อง เม่นกับงู
เม่นตัวหนึ่งไม่มีที่อยู่อาศัยมันไปขออยู่กับสัตว์อื่นๆก็ได้รับการปฏิเสธ ครั้นเมื่อได้พบกับฝูงงูมันพยายามกล่าวอ้อนวอนจนพวกงูเกิดใจอ่อนยอมให้เม่นไปอาศัยอยู่ในรูด้วย แต่ไม่นานเท่าใดงูก็รู้ว่าพวกตนคิดผิดเพราะต่างก็โดนขนที่แข็งและแหลมของเม่นทิ่มแทงตามร่างกายได้รับความเจ็บปวดไปตามๆกัน “เพื่อนเอ๋ย เพื่อเห็นแก่ส่วนรวมเจ้าจงไปหาที่อยู่ใหม่เถอะ” ผู้เป็นหัวหน้างูพยายามวิงวอน “เพราะพวกเราลำบากกันเหลือเกิน” แต่เม่นกลับนอนเฉยทำไม่รู้ไม่ชี้ เมื่อรำคาญหนักเข้าเนื่องจากพวกงูเซ้าซี้จะให้ย้ายออกไปจากรัง มันจึงตวาดกลับไปว่า “ข้าอยู่ที่นี่ก็สบายดีแล้ว หากพวกเจ้าคิดว่าลำบากจนทนไม่ไหวล่ะ ทำไมไม่อพยพไปที่อยู่ใหม่ซะล่ะ
คนพาลเห็นแก่ตัว มักไม่รู้จักสำนึกในบุญคุณและไม่เคยคิดคำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่นๆ

นิทาน

กระต่ายกับเต่า
กระต่ายตัวหนึ่งหลงทะนงในฝีเท้าของตนว่าสามารถวิ่งได้รวดเร็วดุจสายสม ในป่าที่อาศัยอยู่ไม่มีสัตว์ตัวใดสามารถเอาชนะมันได้ วันหนึ่งพบเต่าคลานต้วมเตี้ยมผ่านหน้าไป กระต่ายจึงกล่าววาจาเยาะเย้ยด้วยความคึกคะนอง“มัวแต่คลานเชื่องช้าอยู่แบบนี้เมื่อไหร่จะไปถึงจุดหมายปลายทางเล่าเพื่อน อย่างเจ้านี้ข้าต่อให้คลานล่วงหน้าไปก่อนสักครึ่งวันก็คงวิ่งตามทัน” ไม่ต้องต่อให้ข้าหรอก” เต่ารู้สึกไม่พอใจ “กระต่ายขี้โม้อย่างเจ้าไม่เห็นว่าจะเก่งกาจตรงไหน ไม่เชื่อเรามาลองวิ่งแข่งกันก็ได้”“ว่าไงนะ” กระต่ายแทบไม่เชื่อหูตัวเอง “เจ้านะเหรอกล้าท้าแข่งกับข้า ฮะ...ฮะ...ฮะ..”กระต่ายยืนหัวเราะจนท้องแข็ง พอดีหมาจิ้งจอกเดินผ่านมาทั้งสองจึงเชิญให้เป็นกรรมการตัดสินเมื่อเริ่มการแข่งขัน กระต่ายวิ่งออกจากจุดเริ่มต้นด้วยความเร็วสุดฝีเท้า ครั้นถึงกลางทางลองเหลียวกลับไปมองข้างหลังไม่เห็นแม้แต่เงาของคู่แข่ง เจ้ากระต่ายจึงละล่าใจแวะเข้าไปนอนกระดิกขาเล่นที่ใต้ร่มไม้ใหญ่“หลับเอาแรงสักงีบดีกว่า” กระต่ายทำท่าบิดขี้เกียจ “เอาไว้พอเจ้าหลังตุงมาถึงแถวนี้ ค่อยตื่นขึ้นมาเต้นระบำไปรอบๆตัวมันจนกว่าจะถึงเส้นชัย” สายลมเย็นพัดโชยเฉื่อยฉิว ไม่นานนักเจ้ากระต่ายผู้ประมาทก็เผลอหลับไปจริงๆ ฝ่ายเต่ายังคงคลานต้วมเตี้ยมๆอย่างไม่ย่อท้อโดยมีเพื่อนสัตว์ป่าเดินทางส่งเสียงเชียร์เพื่อให้กำลังใจ เนื่องจากทุกตัวต่างชังน้ำหน้าเจ้ากระต่ายขี้คุยยกเว้นแต่ตอนผ่านต้นไม้ซึ่งเจ้ากระต่ายกำลังหลับฝันหวานอยู่เท่านั้นที่สัตว์ทุกตัวต่างพากันเงียบเสียงเจ้ากระต่ายสะดุ้งตื่นขึ้นมาเมื่อได้ยินเสียงไชโยโห่ร้อง เห็นรอยเท้าสัตว์ต่างๆมากมายบนทางที่ใช้แข่งขันรู้สึกผิดสังเกต มันรีบวิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว อึดใจต่อมาจึงเห็นคู่แข่งของมันกำลังจะคลานเข้าสู่เส้นชัย เจ้ากระต่ายออกแรงวิ่งสุดฝีเท้าแต่ก็สายไปแล้ว พวกสัตว์ป่าต่างห้อมล้อมเข้าไปแสดงความมยินดีกับเต่าตัวแรกที่สามารถเอาชนะกระต่ายได้ในการวิ่งแข่งขัน เป็นตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้
ความประมาทย่อมนำมา ซึ่งความผิดหวังและพ่ายแพ้ ผู้เพียรพยายามย่อมประสบผลสำเร็จ

วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

กระต่าย

กระต่ายเป็นสัตว์ที่ตกใจง่าย ดังนั้นการจับกระต่ายจะต้องทำด้วยความนุ่มนวลและ ถูกวิธีเพื้อความปลอดภัยของตัวกระต่ายและตัวผู้จับด้วย ไม่ควรจับกระต่ายโดยการหิ้วหู เพราะจะทำให้กระต่ายเจ็บปวด และอาจเป็นสาเหตทำให้กระต่ายหูตกได้ การจับกระต่ายที่ถูกวิธีมีดังนี้
1. ลูกกระต่าย ใช้มือที่ถนัดจับหนังบริเวณสะโพกให้มั่นคง แล้วยกขึ้นตรง ๆ
2. กระต่ายขนาดกลาง ใช้มือขวา (หรือมือที่ถนัด) จับหนังเหนือไหล่ให้มั่นคง อาจรวบหูมาด้วยก็ได้ มือซ้ายรองใต้ก้นให้ด้านหน้าของกระต่ายหันออกนอกตัวผู้จับ
3. กระต่ายใหญ่ ใช้มือขวาจับแบบวิธีที่ 2 แล้วยกอ้อมขึ้นมาทางช้ายมือใช้แขนช้าย หนีบให้แนบชิดลำตัวโดยใช้มือซ้ายช่วยประคองก้น ให้หน้ากระต่ายหันไปทางหลังของผู้จับ และขากระต่ายชี้ออกนอกตัวผู้จับ
กระต่ายที่โตแล้วสามารถที่จะดูเพศได้อย่างชัดเจน โดยที่ตัวผู้จะเห็นลูกอัณฑะ อยู่นอกช่องท้องชัดเจน และตัวเมียเห็นอวัยวะเพศอยู่ใต้ทวารหนัก แต่การดูเพศใน ลูกกระต่ายนั้นจะต้องอาศัยความชำนาญ ความแม่นยำทางสายตาและแสงสว่างที่ เพียงพอ ลูกกระต่ายที่จะดูเพศได้อย่างชัดเจน ควรมีอายุเกิน 2 สัปดาห์
วิธีการ จับลูกกระต่ายนอนหงายในฝ่ามือ ใช้นิ้วมือและนิ้วหัวแม่มือของอีก มือหนึ่งลูบและกดเบา ๆ ที่ข้าง ๆ อวัยวะเพศ จะเห็นอวัยวะเพุศอยู่เหนือทวารหนัก ถ้าเห็นเป็นแท่งกลมยี่นออกมาแสดงว่าเป็นตัวผู้ ส่วนตัวเมียจะเห็นเป็นรอยผ่ายาว จนเกือบถึงทวารหนัก